สปอตไลต์ โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

7:49 PM
ผู้เขียน ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์
ที่มา มติชนรายวัน
งานโชว์แจกรางวัลงานใหญ่ของฮอลลีวู้ดในเวทีออสการ์ปีนี้ หนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนเรื่องSpotlight พิชิตรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้
ทั้งๆ ที่คว้ารางวัลไปได้แค่ 2 สาขา คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมกับบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ลักษณะการพิชิตรางวัลแบบนี้ในประวัติศาสตร์ออสการ์ไม่ได้เกิดมานานตั้งแต่เรื่อง The Greatest Show On Earthเมื่อ 64 ปีก่อน
เป็นการตอกย้ำว่า บทภาพยนตร์นั้นสำคัญเป็นอันดับต้น และเป็นตัวการันตีคุณภาพ
แนวหนังเรื่องราวเจาะข่าวระทึกขวัญของ Spotlight ยังชวนให้คิดถึง All the President’s Men ภาพยนตร์ปี ค.ศ.1976 (พ.ศ.2519) ซึ่งนำเสนอเรื่องราวการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนระทึกขวัญเช่นเดียวกัน ทั้งพิชิตรางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ได้เช่นกัน
ในเรื่อง All the President’s Men นำแสดงโดยโรเบิร์ต เรดฟอร์ด กับดัสติน ฮอฟฟ์แมน รับบทเป็นสองนักข่าวบ๊อบ วูดเวิร์ด กับคาร์ล เบิร์นสไตน์ ผู้สืบเสาะค้นหาความจริงทางการเมืองในคดีวอเตอร์เกต ส่งผลสะท้านสะเทือนวงการการเมืองของอเมริกาครั้งใหญ่ จนประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออกจากตำแหน่ง
ขณะที่ผลงานข่าวชิ้นนี้ของวอชิงตันโพสต์ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ รางวัลทรงคุณค่าของวงการหนังสือพิมพ์สหรัฐอเมริกา
เป็นหนังสนุกเข้มข้นมากเรื่องหนึ่งได้เห็นภาพการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนที่ยาก เหน็ดเหนื่อย ถูกคุมคาม และเสี่ยงภัย
สำหรับ Spotlight นำเสนอเรื่องราวการทำข่าวสืบสวนสอบสวนของหนังสือพิมพ์บอสตัน โกลบ ช่วงปี 2545 กรณีล่วงละเมิดทางเพศเด็กของบาทหลวงในโบสถ์คาทอลิก และความพยายามปกปิดกรณีอื้อฉาวนี้โดยคณะสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่
เมื่อเทียบคดีการเมืองอย่างวอเตอร์เกตของวอชิงตันโพสต์ที่ต้องเผชิญกับความฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่รัฐ การทำข่าวที่ท้าทายศรัทธาด้วยความจริงของบอสตัน โกลบ ไม่ง่ายไปกว่ากัน
ในคดีอื้อฉาวดังกล่าวนั้นมีเด็กตกเป็นเหยื่อล่วงละเมิดและข่มขืนมากกว่าร้อยราย แต่บาทหลวงผู้ก่อเหตุกลับลอยนวลมาได้เป็นเวลานาน เพราะโบสถ์ไม่ต้องการเสียชื่อ เป็นเรื่องน่ารันทดที่ซ้อนกันอยู่ จนกระทั่งทีมข่าวค้นหาความจริงและนำเสนอออกมาเป็นข่าวใหญ่ จึงเกิดการสะสางคดี ทวงความยุติธรรม และตรวจสอบโบสถ์ในเวลาต่อมา
บลาย เพกอน เฟาสต์ โปรดิวเซอร์ของ Spotlight กล่าวยกย่องทีมงานข่าวตัวจริงของบอสตัน โกลบ ที่ไม่เพียงทำในสิ่งที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก แต่ยังแสดงให้เห็นว่าการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนนั้นสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อสังคมอย่างไร
ในแง่มุมของภาพยนตร์ การเขียนบทเกี่ยวกับการทำข่าวได้สมจริงนั้นน่าชื่นชม โดยเฉพาะหากมาเทียบกับหนังหรือละครไทยแล้ว เรื่องราวการทำข่าวเจาะลึกแบบนี้ยังไม่มี ส่วนตัวละครนักข่าวหรือบรรณาธิการออกจะดูเพี้ยนๆ ตลกขำขัน ไม่ก็ร้ายกาจไปเลย
ไม่เฉพาะนักข่าวเท่านั้น รายละเอียดของตัวละครในอาชีพอื่นๆ มักไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงมากนัก เป็นเพียงแบ๊กกราวน์แบบแตะๆ
ดูหนังเรื่อง Spotlight และ All the President’s Men แล้วก็คิดๆ ไปว่าหากจะมีคนเขียนบทดีๆ เกี่ยวกับการทำข่าวเจาะคดียันตระเมื่อช่วงปี 2538 หรือคดี 99 ศพในปี 2553 มาเป็นหนังดีๆ สักเรื่อง คงจะน่าติดตามมากทีเดียว

Share this

Related Posts

Previous
Next Post »